
ปัจจุบัน “บุหรี่ไฟฟ้า” ได้รับความนิยมอย่างมาก และกำลังมีพัฒนาการที่ก้าวล้ำไปอย่างรวดเร็วกว่าที่คิด ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ดูทันสมัย มีรูปลักษณ์ที่คล้ายคลึงกับของใช้ในชีวิตประจำวันทั่ว ๆ ไปมากขึ้น มีรสชาติมากเกือบ 20,000 ชนิด แถมส่วนใหญ่เป็นรสขนมหวาน ลูกอม หมากฝรั่ง ผลไม้ น้ำอัดลม ชาเขียว นมเปรี้ยว ที่ผลิตออกมาเอาใจเด็กและเยาวชนที่ตกเป็นเป้าหมายการตลาดของบุหรี่ไฟฟ้าโดยเฉพาะ
รู้หรือไม่…บุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินเข้มข้นทำให้เสพติดได้ง่ายกว่าบุหรี่ธรรมดา แถมกระบวนการเผาไหม้ของบุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นการเผาไหม้ที่ใช้ความร้อนสูงกว่าบุหรี่มวน ทำให้เกิดการเผาไหม้ของโลหะหนักที่ผสมในสารแต่งกลิ่นแต่งสี จึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคมะเร็ง และเกิดละอองไออนุภาคขนาดเล็กเข้าสู่ปอด (PM 2.5) ซึ่งละอองไอของบุหรี่ไฟฟ้ามีสารเคมีอันตรายหลายชนิด ได้แก่ นิโคติน โพรพิลีน ไกลคอล สารแต่งกลิ่น สารก่อมะเร็ง โลหะหนัก เช่น อะลูมิเนียม ตะกั่ว ปรอท สังกะสี คาร์บอนิล อิพอกไซด์ โพลิไซคลิกอะโรมาติกไฮดรอกซีคาร์บอน (PAHs) รวมถึงยาฆ่าแมลง และสารเคมีอื่น ๆ
ยิ่งไปกว่านั้น นํ้ายาในบุหรี่ไฟฟ้าที่ประกอบด้วยนิโคติน เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไปกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง เพิ่มความดันโลหิต เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจ ส่งผลต่อสุขภาพ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง รวมถึงสารโพรไพลีนไกลคอล และสารกลีเซอรีน เมื่อสัมผัสหรือสูดดมเข้าไปอาจทำให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนัง ดวงตา และปอดได้ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคปอดอักเสบเฉียบพลัน โรคถุงลมโป่งพอง และการได้รับไอบุหรี่ไฟฟ้ามือสองยังเป็นอันตรายต่อผู้ที่อยู่รอบข้างอีกด้วย
ในประเทศไทย มีจำนวนผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนโดย ในปี 2564 พบว่ามีคนไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้า 78,742 คน เป็นเพศชาย 71,486 คน เพศหญิง 7,256 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้มีอายุระหว่าง 15-24 ปี 24,050 คน
บุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้เลิกบุหรี่มวนได้จริงหรือไม่?
แม้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะได้รับการโฆษณาว่าช่วยในการเลิกบุหรี่ แต่ยังไม่มีงานวิจัยชุดใดที่บอกได้อย่างแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าบุหรี่ไฟฟ้าสามารถทำให้คนเลิกบุหรี่ได้จริง และยังพบว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้ายังส่งผลให้มีการเสพติดนิโคตินในระยะยาวอีกด้วย ทั้งนี้ด้วยอันตรายที่มีต่อสุขภาพ ประกอบกับความเสี่ยงที่จะเสพติดนิโคตินต่อเนื่อง ทำให้สรุปได้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้มีประสิทธิภาพโดยรวมในการใช้เพื่อช่วยเลิกบุหรี่มวนเมื่อเทียบกับวิธีอื่น
บุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมายหรือไม่?
การจำหน่าย: คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ 9/2558 ระบุห้ามขาย ห้ามให้บริการบารากุ บารากุไฟฟ้า บุหรี่ไฟฟ้า และน้ำยาเติมของทั้งสองชนิด โดยระบุว่าพบสารเคมีที่เป็นอันตรายหลายชนิด รวมถึงการสูบร่วมกันอาจทำให้เกิดโรคติดต่อ ดังนั้น สำหรับผู้ขาย ให้มีความผิดและโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากเป็นผู้ประกอบธุรกิจในฐานะผู้ผลิต ผู้สั่ง หรือผู้ที่นำเข้ามาเพื่อขาย ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การมีไว้ครอบครอง: ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 เพราะเป็นของต้องห้ามนำเข้า ซึ่งโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคา พร้อมภาษีที่ยังไม่ได้จ่าย หรือทั้งจำทั้งปรับ
การนำเข้า: ประกาศกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2557 ให้กรมศุลกากรตรวจจับ หากผู้ใดนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า หรือน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าจะต้องรับผิดตาม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอก และการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 มาตรา 20 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่าของสินค้าที่นำเข้าหรือส่งออก หรือทั้งจำทั้งปรับ
การขาย: ห้ามให้บริการตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2558 ผู้ใดฝ่าฝืนขายบุหรี่ไฟฟ้า จะต้องรับผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 (ฉบับที่ 3) มาตรา 56 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และในกรณีที่ผู้นำเข้าและผู้ขายเป็นคนเดียวกัน จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การสูบในที่สาธารณะ: มีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ซึ่งมีโทษปรับทางพินัยไม่เกิน 5,000 บาท
ดังนั้น การนำเข้า การจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ล้วนถือว่ามีความผิดตามกฎหมายทั้งสิ้น แต่ในส่วนของผู้ครอบครองและสูบบุหรี่ไฟฟ้าในที่สาธารณะ แม้จะไม่มีความผิดโดยตรง แต่ก็จะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 246 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ตามดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย
ทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่มวน ต่างมีอันตรายต่อสุขภาพของผู้สูบเองและคนรอบข้างทั้งสิ้น รู้แบบนี้ มาเริ่มต้นเลิกบุหรี่ตั้งแต่วันนี้เพื่อตัวคุณเองและคนที่คุณรัก
กับประกันโรคร้ายแรง AIA Multi-Pay CI Plus ที่สามารถเข้าร่วมโครงการ AIA Vitality เพียงเลิกบุหรี่อย่างน้อย 3 เดือน และแถลงเป็นผู้ไม่สูบบุหรี่ผ่านแอป AIA+ รับคะแนนเอไอเอ ไวทัลลิตี้สูงสุด 1,000 คะแนน / ปีสมาชิก ทั้งยังได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ มากมาย จากพาร์ทเนอร์ชั้นนำของเราด้วย
สนใจทำประกัน เอไอเอ กดติดต่อกลับเพื่อกรอกแบบฟอร์ม ให้ตัวแทนแนะนำแบบประกันที่เหมาะกับคุณ

หมายเหตุ
- สิทธิประโยชน์ของสมาชิกเอไอเอ ไวทัลลิตี้เป็นไปตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของเอไอเอ ซึ่งเอไอเอขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลง แก้ไข ข้อกำหนดและเงื่อนไขต่างๆ โดยท่านสามารถตรวจสอบเพิ่มเติมได้ที่แอปพลิเคชัน AIA+
- ข้อกำหนดและเงื่อนไขของความคุ้มครองจะระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยที่ออกให้กับผู้ถือกรมธรรม์
- ผู้ขอเอาประกันภัยควรศึกษาทำความเข้าใจรายละเอียดข้อกำหนดและเงื่อนไขของความคุ้มครอง รวมทั้งข้อยกเว้นไม่คุ้มครอง ของผลิตภัณฑ์ประกันภัย และเงื่อนไขที่เอไอเอประกาศ ก่อนตัดสินใจทำประกันภัยทุกครั้ง
ขอบคุณข้อมูล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกระทรวงสาธารณสุข