
การบริจาคโลหิต บางครั้งอาจจะฟังดูน่าหวาดเสียวและน่ากลัวสำหรับคนบางคน แต่สำหรับโรงพยาบาลแล้ว โลหิตเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญในการรักษาผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยผ่าตัด ผู้ป่วยโรคเลือด ผู้ป่วยโรคมะเร็ง รวมถึงการรักษาหลาย ๆ อย่าง ซึ่งในการบริจาคโลหิตนั้นก็ใช่ว่าทุกคนจะทำได้ เพราะหากคุณสมบัติไม่ครบและเตรียมตัวมาไม่พร้อมก็ไม่สามารถบริจาคได้นะ
คุณสมบัติผู้จะบริจาคโลหิต
1. ต้องมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ โดยไม่มีอาการผิดปกติต่าง ๆ เช่น อาการอ่อนเพลียจากการอดนอน อาการมึนเมาจากการดื่มแอลกอฮอล์
2. มีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 45 กิโลกรัมขึ้นไป การที่น้ำหนักตัวน้อยเกินไปเมื่อบริจาคเลือดไปแล้ว อาจจะทำให้เกิดอาการหน้ามืดเป็นลมได้
3. ต้องมีอายุตั้งแต่ 17 - 70 ปี ถ้าเป็นผู้บริจาคครั้งแรกต้องอายุไม่เกิน 55 ปี
4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่น้อยกว่า 5 ชั่วโมง
5. ไม่มีประวัติป่วย เป็นโรคร้ายแรง หรือโรคติดต่อทางกระแสเลือด เพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อไปยังผู้ป่วยที่ได้รับโลหิต
6. ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์ เช่น เคยมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ไม่ใช่คู่ของตนเอง ผู้เสพยาเสพติด ผู้ที่อาจติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
7. สตรีไม่ควรอยู่ในระหว่างมีประจำเดือน ตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร และไม่มีการคลอดบุตรหรือแท้งบุตรภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา

หากคุณมีคุณสมบัติครบตามข้อกำหนดดังกล่าวก็สามารถบริจาคโลหิตได้ โดย เอไอเอ จะมาแนะนำว่าทั้งก่อนและหลังการบริจาคโลหิตควรปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง จะได้ไม่เกิดผลเสียต่อร่างกายตามมา
ก่อนบริจาคโลหิต
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่น้อยกว่า 5 ชั่วโมง
- มีสุขภาพแข็งแรง หากมียาที่รับประทานเป็นประจำให้แจ้งเจ้าหน้าที่
- รับประทานอาหารมื้อหลักก่อนมาบริจาคโลหิต 6 ชั่วโมง หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ อาหารที่ประกอบด้วยกะทิ แกงต่าง ๆ ของทอด ของหวาน เนื่องจากจะทำให้สีพลาสมาผิดปกติ เป็นสีขาวขุ่น ไม่สามารถนำไปใช้ได้
- ดื่มน้ำก่อนบริจาคโลหิต 30 นาที ประมาณ 3-4 แก้ว ซึ่งเท่ากับปริมาณโลหิตที่จะเสียไปในการบริจาค โดยการดื่มน้ำจะทำให้โลหิตไหลเวียนดีขึ้น และลดอาการขาดน้ำจนเป็นลม
- งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ก่อนมาบริจาคโลหิตอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
- งดสูบบุหรี่ก่อนและหลังบริจาคโลหิต 1 ชั่วโมง เพื่อให้ปอดฟอกโลหิตได้ดี
ขณะบริจาคเลือด
- ควรใส่เสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย ไม่คับจนเกินไป และสามารถดึงแขนเสื้อขึ้นเหนือข้อศอกได้อย่างน้อย 3 นิ้ว
- เลือกบริจาคโลหิตจากแขนข้างที่เห็นเส้นโลหิตดำใหญ่ชัดเจน ผิวหนังบริเวณที่จะให้เจาะต้องไม่มีผื่นคัน หรือรอยเขียวช้ำ ถ้าแพ้ยาทาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทราบล่วงหน้า
- ไม่ควรเคี้ยวหมากฝรั่ง หรืออมลูกอมขณะบริจาคโลหิต
- ขณะบริจาคโลหิตควรบีบลูกยางอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้โลหิตไหลได้สะดวก หากมีอาการผิดปกติระหว่างบริจาค เช่น ใจสั่น วิงเวียน มีอาการคล้ายจะเป็นลม มีอาการชา มีอาการเจ็บที่ผิดปกติ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที
หลังบริจาคโลหิต
- หลังบริจาคโลหิตเสร็จเรียบร้อย ห้ามลุกทันที ให้นอนพักสักครู่ (อย่างน้อย 5 นาที) จนแน่ใจว่ารู้สึกเป็นปกติแล้วค่อยลุกขึ้น หากมีอาการเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม หรือรู้สึกผิดปกติ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทราบทันที
- เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการปิดแผลให้แล้ว ถ้ามีโลหิตซึมออกมาจากรอยผ้าปิดแผล ให้ใช้นิ้วมืออีกด้านหนึ่งกดลงบนผ้าก๊อซ กดให้แน่นและยกแขนสูงไว้ประมาณ 3-5 นาที หากยังไม่หยุดซึมให้กลับมายังสถานที่บริจาคโลหิตเพื่อพบแพทย์หรือพยาบาล
- พักรับประทานอาหารว่างและเครื่องดื่มที่เจ้าหน้าที่จัดไว้บริการ และนั่งพักอย่างน้อยอีก 15 นาที หลังจากนั้นให้ดื่มน้ำมากกว่าปกติ เป็นเวลา 1 วัน
- หลังจากนั่งพักแล้ว เมื่อเดินทางกลับควรระวังการขึ้นลงลิฟต์ บันได และบันไดเลื่อน เพราะอาจเกิดอาการวิงเวียนและเป็นลมได้
- รับประทานยาเสริมธาตุเหล็ก วันละ 1 เม็ด หลังอาหาร จนครบ 50 วัน เพื่อชดเชยธาตุเหล็กที่เสียไปจากการบริจาคโลหิต
- หลีกเลี่ยงการขึ้นลงลิฟต์ บันไดเลื่อน อาจทำให้รู้สึกวิงเวียนและเป็นลมได้
- หลีกเลี่ยงการทำซาวน่า หรือออกกำลังกายที่ต้องเสียเหงื่อมาก ๆ
- ไม่ใช้กำลังแขนข้างที่เจาะบริจาคโลหิต เช่น ยกของหนัก ออกกำลังกายหนัก เป็นเวลา 24 ชั่วโมง
- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาทิ การเดินซื้อของ อยู่ในบริเวณที่แออัดหรืออากาศร้อนอบอ้าว เป็นต้น
- งดกิจกรรมหรือการทำงานที่มีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับ ความเร็ว ความสูง ความลึก เครื่องจักรกล
- ทานเครื่องดื่มที่มีวิตามินซีสูง เช่น น้ำส้ม น้ำฝรั่ง หรือน้ำมะเขือเทศ จะทำให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดี ยกเว้นชาเขียว
การบริจาคโลหิตไม่ได้เป็นเพียงการไปนอน เอาเข็มทิ่มแขน บีบ ๆ ลูกยาง แล้วได้เลือดออกมา 1 ถุง แต่การบริจาคโลหิตต้องเตรียมตัวทั้งก่อนบริจาค ขณะบริจาค และหลังการบริจาค เพื่อให้ผู้ที่บริจาคสามารถบริจาคเลือดได้ตรงตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ รวมถึงเพื่อให้ผู้ที่ได้รับเลือดมาจากการบริจาคนั้น ได้เลือดที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ ดังนั้น ในวันกาชาดสากลนี้ เอไอเอ ขอร่วมสนับสนุนการบริจาคโลหิตเพื่อช่วยต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์ มีความสุขจากการเป็นผู้ให้ ด้วยการบริจาคโลหิตและสำหรับสมาชิกโครงการเอไอเอ ไวทัลลิตี้ รับคะแนนเอไอเอ ไวทัลลิตี้สูงสุด 200 คะแนนต่อปีสมาชิก
หมายเหตุ:
- สิทธิประโยชน์ของสมาชิกเอไอเอ ไวทัลลิตี้เป็นไปตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของเอไอเอ ซึ่งเอไอเอขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลง แก้ไข ข้อกำหนดและเงื่อนไขต่างๆ โดยท่านสามารถตรวจสอบเพิ่มเติมได้ที่แอปพลิเคชัน AIA+
ขอบคุณข้อมูล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)