
"ลองโควิด" รักษาโควิดหายแล้ว ทำไมยังป่วย
ผู้ป่วยโรคโควิด 19 โดยมากมักจะหายจากอาการป่วยภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่ในผู้ป่วยบางคน พบว่าแม้จะรักษาอาการโควิดหายแล้ว แต่กลับมีอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ หลงเหลือหลังจากติดเชื้อโควิด ซึ่งปัจจุบันเรานิยามภาวะเหล่านี้ว่า “ลองโควิด” (Long COVID) โดยอาการเหล่านี้มักจะส่งผลต่อร่างกายนาน 2-3 เดือน และถึงแม้ว่าทั่วโลกจะกำลังวิจัยเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้ แต่ก็ยังไม่สามารถหาคำตอบ หรือเข้าใจสาเหตุที่ทำให้เกิด “ลองโควิด” ได้อย่างแท้จริง
อาการลองโควิดเป็นอย่างไร
อาการป่วยลองโควิด อาจเกิดได้กับทางกายและจิตใจ
อาการทางกาย - ทั้งอวัยวะและระบบต่างๆ ในร่างกายอาจได้รับผลกระทบและเกิดอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ตามมา เช่น ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบโลหิตวิทยา ระบบไต ระบบประสาทส่วนกลาง และระบบทางเดินหายใจ รวมไปถึงอาการต่าง ๆ ได้แก่ เหนื่อยล้าง่ายขึ้น หายใจลำบาก ปวดศีรษะ และภาวะจมูกได้กลิ่นลดลง นอกจากนี้อาจมีอาการปวดท้อง ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือแม้แต่ภาวะบาดเจ็บที่ไตเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดหัวใจ ได้อีกด้วย
อาการทางจิตใจ - ผู้ป่วยอาจมีอาการวิตกกังวล ซึมเศร้า ภาวะป่วยทางจิตหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (Post-traumatic stress disorder หรือ PTSD) นอนไม่หลับ สับสนเฉียบพลัน ความรู้คิดบกพร่อง ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับคนไข้ที่ใส่ท่อช่วยหายใจ หรือพ้นจากภาวะไอซียู (ICU)
ผลกระทบในระยะยาวของโควิด 19 ในเด็กและวัยรุ่น
ปัจจุบัน เรายังไม่อาจทราบได้อย่างแน่ชัดว่าเด็กที่เคยติดเขื้อโควิด 19 จะมีอาการหรือผลกระทบต่าง ๆ ในระยะยาว มากหรือน้อยกว่าผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ แต่จากรายงานพบว่า ลองโควิดส่งผลให้เกิดภาวะความรู้คิดบกพร่อง หายใจลำบาก ภาวะซึมเศร้า รวมถึงเบาหวานชนิดที่ 1 ในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นได้
อาการลองโควิดในแต่ละบุคคลแตกต่างกันอย่างไร?
จากการศึกษาข้อมูลผู้ป่วยโควิด 19 จำนวน 273,618 ราย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกา พบอาการที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ดังนี้
ผู้หญิง มักมีอาการปวดหัว ปวดท้อง ภาวะวิตกกังวลหรือซึมเศร้า
ผู้ชาย มักมีภาวะหายใจลำบาก และมีอาการเกี่ยวกับสมอง
ผู้ป่วยอายุน้อย มักมีอาการปวดหัว ปวดท้อง ภาวะวิตกกังวลหรือซึมเศร้า
ผู้ป่วยที่อายุมาก มักมีปัญหาเกี่ยวกับสมอง
การพยากรณ์ความเสี่ยงของลองโควิด
ปัจจุบันมีการนำข้อมูลเกี่ยวกับ อายุ ประวัติโรคหอบหืด และอาการระหว่างที่ติดเชื้อโควิด มาจัดทำเป็นระบบคะแนน เพื่อคาดการณ์ว่าผู้ป่วยรายใดมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นลองโควิด ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการวัดผลความแม่นยำ แต่จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Nature Communications เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการนำข้อมูลของผู้ป่วยโควิดในช่วงเดือนเมษายน 2563 – สิงหาคม 2564 มาวิเคราะห์ (โดยเว้นการพิจารณาประวัติการฉีดวัคซีนของผู้ป่วย) ผลลัพธ์ที่ได้พบว่า
• ผู้ที่มีอาการลองโควิด จะมีระดับภูมิต้านทาน (แอนติบอดี้) ชนิด IgM และ IgG 3 ที่มีต่อเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ต่ำกว่า เมื่อเทียบผู้ป่วยที่ฟื้นตัวได้ไว
• การมีประวัติเป็นโรคหอบหืด มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดลองโควิด
วัคซีน Covid-19 ช่วยลดความเสี่ยงลองโควิดได้
แม้ขณะนี้ข้อมูลเกี่ยวกับอาการลองโควิดจะยังมีไม่มากนัก โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่รับเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน เพราะเชื้อไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงไปจากการศึกษาอาการลองโควิดในผู้ป่วยสายพันธุ์อัลฟ่าและเดลต้า ในช่วงปี 2563 – 2564 แต่จากการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับวัคซีนชนิด mRNA โดยมากมักจะมีอาการป่วยในระดับที่ไม่รุนแรง และมีความเสี่ยงที่จะเป็นลองโควิดน้อยลง เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ได้รับวัคซีนชนิดเชื้อตาย หรือวัคซีนไวรัลเวคเตอร์ หรือผู้ป่วยที่ไม่ได้รับวัคซีนใดๆ เลย
เอไอเอ ไวทัลลิตี้ สนับสนุนให้สมาชิกดูแลสุขภาพ ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตามระยะเวลาที่แนะนำโดยกระทรวงสาธารณสุข โดยสมาชิกจะได้รับคะแนนไวทัลลิตี้ 1,000 คะแนน เพียงส่งหลักฐานการฉีดวัคซีนโควิด 19 ผ่านทางแอปพลิเคชัน AIA Vitality Thailand รายละเอียดเพิ่มเติม https://bit.ly/3EMlEAG
ขอขอบคุณข้อมูล Medix Group