
ฮีทสโตรก ภัยร้ายหน้าร้อน
อ่านก่อนเพื่อป้องกัน และรับมือได้ทันท่วงที
ตอนนี้ประเทศไทยก็เข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และปีนี้ก็ยังเป็นปีที่ร้อนอบอ้าวมากกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา เราจะเห็นจากแหล่งข่าวมากมายที่ออกมาเตือนถึงภัยร้อนในครั้งนี้ว่าค่าดัชนีความร้อน หรือ อุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ว่าอากาศในขณะนั้นมีอุณหภูมิเท่าไหร่ (Feel Like) โดยในบางพื้นที่พุ่งสูงไปถึง 50 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว ซึ่งอากาศที่ร้อนในระดับนี้ เป็นอันตรายต่อร่างกายของเราเป็นอย่างมาก
ฮีทสโตรก (Heatstroke) หรือโรคลมแดด คือ ภาวะที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิของร่างกายให้เหมาะสมได้ เมื่ออากาศในขณะนั้นมีอุณหภูมิและความชื้นที่สูงจนเกินไป จนทำให้ร่างกายของเรามีอุณหภูมิสูงขึ้นเกิน 40 องศาเซลเซียส ซึ่งภาวะนี้สามารถส่งผลกระทบที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เลยทีเดียว
ภาวะฮีทสโตรกสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ และทุกวัย แต่มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุและเด็กมากกว่าวัยอื่น ๆ เพราะฉะนั้นแล้วครอบครัวไหนที่มีเด็ก หรือ ผู้สูงอายุ อาจจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ นอกจากนี้ ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงจะมีความเสี่ยงในการเกิดฮีทสโตรกมากขึ้นด้วย
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรากำลังเป็นฮีทสโตรก ลองมาทำความเข้าใจกับอาการของฮีทสโตรกกัน เพื่อใช้สังเกตอาการทั้งของตัวเองและคนรอบข้าง
- อาการที่บ่งบอกว่าร่างกายกำลังอยู่ในภาวะฮีทสโตรก
- มีไข้สูงเกิน 40.5 องศาเซลเซียส
- ปวดศีรษะ หน้ามืด และอาจหมดสติได้
- เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
- อาเจียน สับสน
- ชัก เพ้อ เดินโซเซ พูดจาสับสน ตอบสนองช้า
ผู้ป่วยฮีทสโตรกไม่จำเป็นต้องมีอาการที่กล่าวมาข้างต้นครบทั้งหมด อาจจะมีอาการเพียงบางอย่างก็ได้เช่นกัน
แม้ฮีทสโตรกจะเป็นภาวะที่ฟังดูน่ากลัว เพราะมีอันตรายถึงแก่ชีวิต อย่างไรก็ตาม เราสามารถหลีกเลี่ยงและป้องกันไม่ให้ร่างกายของเราและคนที่เรารักเกิดภาวะนี้ได้ โดยในวันที่มีอากาศร้อนอบอ้าว (ซึ่งก็คือแทบทุกวันของฤดูร้อนเมืองไทย) เราควรปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันภาวะฮีทสโตรก ดังนี้
วิธีป้องกันไม่ให้เกิดฮีทสโตรก
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ ควรพกขวดน้ำไว้ติดตัว และจิบน้ำตลอดวัน เพื่อช่วยให้สามารถลดอุณหภูมิร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- สวมใส่เสื้อผ้าที่มีเนื้อผ้าบางเบา สบาย ระบายอากาศได้ดี เพื่อลดการสะสมความร้อนภายในร่างกาย
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศร้อน หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งในเวลาที่อากาศร้อนจัด ควรเข้าที่ร่มหรือห้องแอร์
- หากทำกิจกรรมที่เหงื่อออก ควรดื่มเกลือแร่เพื่อชดเชยในส่วนที่ร่างกายเสียไป และใช้ผ้าซับเหงื่อให้แห้งอยู่เสมอ
- ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- หากรู้สึกร้อนมาก ให้อาบน้ำระหว่างวัน

เรื่องที่ฉุกเฉินที่สุดของภาวะฮีทสโตรก คือ การปฐมพยาบาลหรือกู้ชีพเบื้องต้น เมื่อมีผู้ป่วยที่มีอาการของภาวะฮีทสโตรก เพราะเป็นสิ่งที่ต้องทำแข่งกับเวลา ในเวลาแบบนี้ เราจึงจำเป็นที่จะต้องมีสติให้มากที่สุด และต้องรู้ว่าควรทำอย่างไร
โดยวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่เรา ๆ ท่าน ๆ เคยได้เรียนรู้มานั้น อาจได้นำมาใช้จริงในเหตุการณ์ที่คุณพบเจอผู้ป่วยฮีทสโตรกก็ได้ หรือแม้แต่ในกรณีที่คุณเป็นผู้ป่วยเสียเอง แต่อาจมีอาการเบื้องต้นที่ยังไม่รุนแรงถึงขั้นหมดสติ ก็สามารถใช้ช่วยเหลือตัวเองให้มีอาการดีขึ้นก่อนไปพบแพทย์ได้อีกด้วย
- พาผู้ป่วยเข้าที่ร่ม ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี
- หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เช่น หน้ามืด คลื่นไส้ อาเจียน มีอาการสับสน ตอบสนองช้า ชักเกร็ง เป็นต้น ให้โทรเรียกรถพยาบาลก่อนเป็นอันดับแรก เพราะรถพยาบาลต้องใช้เวลาในการเดินทางมารับผู้ป่วย ซึ่งระหว่างรอรถพยาบาลให้คุณทำการปฐมพยาบาลผู้ป่วยเบื้องต้น
- ให้ผู้ป่วยนอนราบ แล้วยกขาขึ้น อาจใช้ขาพาดกับวัตถุที่สูงกว่าศีรษะ เพื่อช่วยในการไหลเวียนของเลือด
- ดื่มน้ำเปล่าเย็น ๆ เพื่อลดอุณหภูมิในร่างกาย
- ใช้ผ้าเย็นเช็ดตัว เน้นบริเวณศีรษะ ลำคอ และลำตัว
- หากมีอาการดีขึ้นแล้ว ผู้ป่วยควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อฟื้นฟูความแข็งแรงของร่างกาย
ท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าวแบบนี้ หมั่นสังเกตร่างกายของตัวเองและคนรอบข้างอยู่เสมอ หากรู้สึกไม่สบายจนต้องพบแพทย์ ก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของประกันสุขภาพ จากเอไอเอ ช่วยคุณดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาล เพื่อให้คุณได้รักษาตัวได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องกังวลกับค่าใช้จ่ายที่สูงไม่แพ้อุณหภูมิของหน้าร้อนในปีนี้
ใครที่ยังไม่มีประกันสุขภาพ สามารถคลิกลงทะเบียนที่นี่ เพื่อติดต่อกับตัวแทนประกันชีวิตของเอไอเอ
หมายเหตุ
- ข้อมูลนี้เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นเพื่อประกอบการนำเสนอเท่านั้น ผู้ขอเอาประกันภัยควรศึกษาทำความเข้าใจรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ประกันภัย และเงื่อนไขที่เอไอเอประกาศ ก่อนตัดสินใจทำประกันภัยทุกครั้ง
- ข้อกำหนดและเงื่อนไขของความคุ้มครองจะระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยที่ออกให้กับผู้ถือกรมธรรม์
รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายประกันสุขภาพ เอไอเอ ประเทศไทย